ความสำคัญและพันธกิจ

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ให้เป็นสังคมเมืองแห่งความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยต่อลูกค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อีกทั้งเป็นพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินในรูปแบบ ต่างๆ เช่น การเกิดอุบัติเหตุทางการจราจร อัคคีภัย หรือเหตุสารเคมีหกรั่วไหลภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ บริษัทฯ จึงได้มีมาตรการและกระบวนการต่างๆ ในการดูแลเรื่องความความปลอดภัยและอาชีวอนามัย โดยใช้แนวทางของระบบบริหารจัดการคุณภาพ (ISO 9001:2015) ระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2015) และมาตรฐานแรงงานประเทศไทย มรท. 8001-2563 รวมถึงมีการประกาศนโยบายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้พนักงานรวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทํางาน และเพื่อให้พนักงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสภาพแวดล้อม ในการทํางานที่ปลอดภัย

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

เป้าหมาย

  • จํานวนอุบัติเหตุจากการทำงานจนถึงขั้นหยุดงานของพนักงานและผู้รับเหมาเป็น 0 กรณี
  • อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ถึงขั้นหยุดงาน กรณีต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทํางานเป็น 0 กรณี
  • รายงานสถานการณ์เหตุฉุกเฉินและปัญหาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ และไปถึงสถานที่เกิดเหตุ ภายใน 5 นาที

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

จํานวนอุบัติเหตุจากการทำงานจนถึงขั้นหยุดงาน ของพนักงานและผู้รับเหมา เป็น 0 กรณี

อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ถึงขั้นหยุดงาน กรณีต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทํางาน เป็น 0 กรณี

รายงานสถานการณ์เหตุฉุกเฉินและปัญหาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ และไปถึงสถานที่เกิดเหตุ ภายใน 5 นาที

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวทางการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการและการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พนักงาน จนถึงผู้รับเหมา โดยมีเป้าหมายในการป้องกันการบาดเจ็บจนถึงขั้นหยุดงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident) และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและการส่งเสริมสุขภาพให้แก่พนักงานตามกรอบการดำเนินงานดังนี้

กรอบการดำเนินงาน

1. การประเมินความเสี่ยงในการทำงาน
  • กำหนดให้ทุกหน่วยงานทำการบ่งชี้ประเด็นความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยและความเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและลดความเสี่ยงจากกระบวนการนั้น และมีกระบวนการทบทวนความเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. การรายงานและสอบสวนเหตุการณ์ผิดปกติ หรืออุบัติเหตุ
  • หากมีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน จะต้องรายงานการเกิดอุบัติเหตุโดยพนักงานผู้ประสบเหตุหรือหัวหน้างานต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย พร้อมทั้งจัดให้มีกระบวนการสอบสวนหาสาเหตุและกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิด เหตุการณ์ซ้ำในอนาคต
3. การส่งเสริมสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
  • ดำเนินจัดให้มีการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานในแต่ละพื้นที่ตามปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
  • ตรวจสอบสุขภาพพนักงานก่อนเริ่มปฏิบัติงานเพื่อเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพและจัดสวัสดิการด้านสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปี หรือสนับสนุนค่ารักษาพยาบาล และประกันสุขภาพให้แก่พนักงาน
  • จัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี และ การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก
  • สนับสนุนกิจกรรมหรือชมรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและใจโดยจัดตั้งชมรมนันทนาการตามความสนใจของพนักงาน
4. การอบรมพนักงานด้านอาชีวอนามัย
  • จัดให้มีการอบรมการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี เช่น การดับเพลิงเบื้องต้น และการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟประจำปี เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความพร้อมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เรียนรู้ทักษาที่จำเป็นในการระงับอัคคีภัย และการปฏิบัติตนอย่างถูก ต้องเพื่อความปลอดภัยขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในพื้นที่ รวมทั้งมีการบันทึกข้อมูลและผลการฝึกซ้อมและการประเมินระยะเวลาในการอพยพและประสิทธิภาพการสื่อสารขณะเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
ความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมา

สำหรับการด้านการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมา บริษัทฯ ให้ความสำคัญ ต่อการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นสวนอุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติงานในพื้นที่และสื่อสารนโยบายด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานได้รับทราบ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดให้ มีการวิธีการปฏิบัติงาน (Work Instruction: WI) เรื่องการขออนุญาตทำงาน (WI – CO – 018) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทาง ในการขออนุญาตทำงานที่มีความเสี่ยง และสำหรับเป็นแนวทางในการตรวจสอบการทำงานด้านความปลอดภัยของผู้รับเหมา ซึ่งรายละเอียดของการขออนุญาตทำงานที่มีความเสี่ยงได้กำหนดขั้นตอนของประเภทงานต่างๆ อย่างครอบคลุม

การบริหารจัดการภาวะฉุกเฉิน

บริษัทฯให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเกิดภาวะฉุกเฉินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลิงไหม้ สารเคมีหกรั่วไหล หรือน้ำมัน รั่วไหล ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมของบริษัทฯ จึงได้จัดให้มีคู่มือรักษาความปลอดภัย ที่จัดทำโดยคู่ค้าของบริษัทฯ ที่ทำหน้าที่ในการให้บริการในการจัดการระบบต่างๆ ภายในสวนอุตสาหกรรม ครอบคลุมการการปฏิบัติงานของพนักงานรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุ เจ้าหน้าที่สายตรวจ เจ้าหน้าที่รถพยาบาล เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และเจ้าหน้าที่จราจร ซึ่งรวมถึงการดับเพลิงขั้นต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โค้ดวิทยุสื่อสาร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นไปตาม ข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพ สร้างความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นของการให้บริหาร และไปถึงสถานที่เกิดเหตุภายใน 5 นาที ตามที่เป้าหมายได้กำหนด ในปี 2567 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการอบรมเพื่อฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ และหลักสูตรด้านความปลอดภัย และมีพนักงานทั้งในส่วนของบริษัทฯ และบริษัทลูกค้าที่อยู่ในทุกสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ที่เข้าร่วมอบรม

ความปลอดภัยบนถนนภายในสวนอุตสาหกรรม

ประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญ คือ ปัญหาด้านการจราจรและความปลอดภัยทางถนน เนื่องจากมีปริมาณรถที่ต้องผ่านเข้า - ออก พื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น พนักงานที่ทำงานในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ และคนในพื้นที่ชุมชนโดยรอบจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจราจรที่หนาแน่นและอุบัติเหตุทางถนน ดังนั้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการสร้างสังคมและจิตสำนึกที่ปลอดภัยทั้งในเขตพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์รวมถึงชุมชน โดยรอบจากผลการบันทึกพบว่าอุบัติเหตุด้านการจราจรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับรถโดยประมาท

ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

พนักงาน/ผู้บริหาร

ได้รับการดูแลด้านสิทธิแรงงาน สภาพการทำงานที่ปลอดภัย และการพัฒนาศักยภาพ

คู่ค้า

ได้รับการประเมินด้านสิทธิมนุษยชน และต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ

ชุมชนและสังคม

ได้รับการดูแลด้านคุณภาพชีวิต การพัฒนาอาชีพ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

ลูกค้า

ได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย

ภาครัฐ/หน่วยงานกำกับดูแล

ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม และบริษัทดำเนินงานอย่างโปร่งใส